รวมความเชื่อคนท้องที่คุณแม่ทั้งหลายควรรู้

คุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินความเชื่อต่างๆ มาจากคนรอบตัว จนทำให้กลัวที่จะทำสิ่งต่างๆ เพราะอาจส่งผลโดยตรงต่อลูกน้อยได้ วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความเชื่อคนท้องว่ามีอันนั้นควรทำและไม่ควรทำตามบ้าง เพื่อคลายความกังวลให้แก่เหล่าคุณแม่นั่นเอง

ความเชื่อคนท้อง

ความเชื่อคนท้องที่คุณแม่ทั้งหลายควรรู้

1. ห้ามอาบน้ำเวลากลางคืน

คนโบราณมักจะบอกลูกหลานที่ตั้งครรภ์ว่าห้ามอาบน้ำตอนกลางคืน เพราะจะทำให้ถุงน้ำคร่ำหนาจนคลอดลูกยาก หรืออาจทำให้เด็กพิการได้ แต่ที่จริงแล้วการอาบน้ำตอนกลางคืนไม่ได้มีผลต่อลูกน้อยในครรภ์มากนัก เพียงแต่การอาบน้ำตอนกลางคืนในสมัยก่อนนั้นไม่มีแสงสว่างเพียงพอ อาจสะดุดล้มพลาดตกบันได หรืออาจเจอสัตว์มีพิษทำร้ายได้

2. ห้ามคนท้องนอนหงาย

คนโบราณเชื่อว่าถ้าคนท้องนอนหงายอาจทำให้ท้องแตกได้ แต่ที่จริงแล้วการนอนหงายอาจทำให้รู้สึกอึดอัด ส่งผลให้คุณแม่เวียนหัว หน้ามืด เนื่องจากความดันโลหิตต่ำลง

3. ห้ามกินเฉาก๊วย เพราะทำให้ลูกตัวดำ

คนโบราณเชื่อว่าการกินของดำจะทำให้ลูกตัวดำ ถ้าหากให้ลูกตัวขาวต้องกินนมเยอะๆ แต่ที่จริงแล้วสีผิวลูกน้อยขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของพ่อหรือแม่

4. ห้ามดื่มน้ำมะพร้าวเพราะจะทำให้แท้งลูก

คนโบราณเชื่อว่าถ้าดื่มน้ำมะพร้าวจะทำให้เด็กไม่มีไข่ ดื่มแล้วแท้งลูก ซึ่งความจริงนั้นไม่ควรดื่มน้ำมะพร้าวเนื่องจากมีส่วนผสมของโซเดียมปริมาณสูง หรือหากดื่มน้ำที่เปิดทิ้งไว้นานอาจทำให้ท้องเสียได้ โดยปกติช่วง 5 เดือนแรกจะมีการสร้างไขเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวทารก อีกทั้งช่วยให้คุณแม่คลอดลูกง่ายขึ้น แม้การดื่มน้ำมะพร้าวจะทำให้สีของไข่ขาวขึ้นก็ตามแต่ก็ไม่ได้มีผลต่อปริมาณของไขแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ได้มีผลต่อการบีบตัวของมดลูกที่อาจทำให้แท้งลูกด้วยเช่นกัน

5. ห้ามมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์

คนโบราณเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้แท้งลูกได้ แต่ความเป็นจริงนั้นคนท้องสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ไม่ได้ส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อลูกน้อยในครรภ์แต่อย่างใด เพียงแต่ควรมีเพศสัมพันธ์ด้วยท่าที่เหมาะสม แต่หากคุณแม่มีประวัติการแท้งลูกหรือคลอดก่อนกำหนด อาจต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ช่วง 3 เดือนแรก และ 3 เดือนก่อนคลอด รวมถึงช่วงที่มีอาการน้ำเดิน หรือรกเกาะต่ำด้วย

6. ห้ามออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์

คนโบราณเชื่อว่าการออกกำลังกายอาจทำให้แท้งลูกได้ จริงๆ แล้วการออกกำลังกายที่เหมาะสมช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพที่แข็งแรง ช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า แถมยังลดความเครียดขณะตั้งครรภ์อีกด้วย เพียงแต่ต้องออกกำลังกายด้วยท่วงท่าที่เหมาะสม แถมยังช่วยคุมน้ำหนักขณะตั้งครรภ์และหลังตั้งครรภ์ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำต่อเนื่อง, การเดินเร็ว, โยคะ ฯลฯ และที่สำคัญไม่ควรออกกำลังกายด้วยท่วงท่าที่ใช้แรงเยอะเกินไปเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นง่าย ทั้งนี้ควรออกกำลังกายหลังจากตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ขึ้นไป

7. ห้ามซื้อของใช้เด็กก่อนคลอด

คนโบราณเชื่อว่าการซื้อของเตรียมไว้ก่อนอาจทำให้วิญญาณอิจฉาริษยาและพรากเด็กไปจากครรภ์ ทำให้เด็กไม่ได้เกิดมา แต่ที่จริงแล้วการซื้อของมาก่อนอาจทำให้มีแบคทีเรียและเชื้อราสะสมหากไม่ได้ทำความสะอาดให้ดี ส่งผลให้เด็กที่ใช้ของเหล่านี้อาจได้รับสิ่งสกปรกเข้าสู่ร่างกายและอาจป่วยง่าย ความจริงนั้นการซื้อของเตรียมเอาไว้ไม่ได้มีผลต่อการคลอดลูกแต่อย่างใด

8. การติดเข็มกลัดที่สะดือ จะปกป้องลูกน้อยในครรภ์ให้ปลอดภัย

คนโบราณเชื่อว่าการติดเข็มกลัดจะช่วยปกปักไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามากล้ำกรายลูกน้อย แต่ที่จริงแล้วการติดเข็มกลัดนั้นจะช่วยให้ผู้อื่นรู้ได้ทันทีว่าผู้หญิงที่ติดเข็มกลัดที่ท้องหมายถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อคุณแม่หากต้องเดินทางไปที่ต่างๆ นั่นเอง

9. ห้ามกินกล้วย

คนโบราณเชื่อว่าการกินกล้วยจะทำให้คลอดยากเพราะกล้วยน้ำว้าจะทำให้เด็กตัวใหญ่ แต่ที่จริงการกินกล้วยน้ำว้าอาจทำให้คุณแม่รู้สึกอิ่มง่ายเนื่องจากกล้วยมีแป้งในปริมาณสูง จนไม่อยากทานอาหารอื่น และทำให้คุณแม่ขาดสารอาหารที่จำเป็นสำหรับตัวเองและลูกน้อยด้วย นอกจากนี้หากกินกล้วยไม่สุกอาจทำให้ท้องผูกได้ด้วย

10. ห้ามเย็บปักถักร้อย

คนโบราณเชื่อว่าการเย็บปักถักร้อยอาจทำให้ลูกปากแหว่งเพดานโหว่ แต่ที่จริงการเย็บปักถักนั้นจะต้องนั่งก้มหน้าเป็นเวลานาน อาจทำให้วิงเวียนศีรษะได้ แต่ไม่ได้มีผลทำให้เด็กเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการที่คุณแม่สูบบุหรี่เป็นประจำนั่นเอง

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ท้องลมคืออะไร ? การตั้งครรภ์หลอก สามารถตั้งครรภ์เองได้หรือไม่?

วิธีรับมือกับปัญหาท้องแล้วแท้ง ให้ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย

ท้องนอกมดลูก เกิดจากอะไร? สามารถป้องกันได้อย่างไร?


แพทย์ผู้เขียน

แพทย์ผู้เขียน


นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์


นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์