Q&A : อายุเกิน 35ปี ทำ IUI ได้ไหม โอกาสสำเร็จมากน้อยแค่ไหน?

ภาวะมีลูกยาก เป็นปัญหาที่สามีภรรยาหลายๆ คู่ประสบ เนื่องจากในปัจจุบันคนรุ่นใหม่มักจะนิยมแต่งงาน หรือวางแผนการมีครอบครัวก็ต่อเมื่อมีวัยวุฒิและคุณวุฒิพร้อมแล้วเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเข้าเลขวัย 30-35 ขึ้นไป จึงทำให้มีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่มีอายุมากกว่า 35 ปีเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากหมอว่า อายุเท่านี้ยังสามารถมีลูกได้หรือไม่? รวมถึงปรึกษาการทำ IUI (การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก) และทำเด็กหลอดแก้ว ICSI ว่าสามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้หรือไม่? วันนี้หมอจึงจะมาพูดถึงเรื่องนี้ให้ฟังกันครับ

อายุเกิน 35ปี ทำ IUI ได้มั้ย

อายุเกิน 35ปี ทำ IUI ได้มั้ย?

ในช่วงอายุ 35 ปี หรือมากกว่า 35 ปีนั้น หลายๆ คนมักมีความกังวลว่า จะไม่สามารถมีลูกได้ และหากตั้งครรภ์ในช่วงเวลานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของการผิดปกติของตัวอ่อนอาจจะมีโอกาสแท้งสูง …. จริงอยู่ครับว่า อายุมากแล้วตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่า “จะไม่สามารถมีลูกได้” หากคนไข้เข้ารับการปรึกษาการแพทย์โดยตรงก็ยังสามารถมีลูกได้ปกติเลยครับ

แต่โอกาสในการตั้งครรภ์จะขึ้นอยู่กับสุขภาพภายในของแต่ละคน ทำให้จำต้องตรวจสุขภาพและความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ก่อน เนื่องจากอายุที่มากขึ้นทำให้สุขภาพของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร รวมถึงสุขภาพและคุณภาพของไข่ที่อาจไม่สมบูรณ์เท่าช่วงอายุเจริญพันธุ์ (20-30 ปี) ดังนั้น หากตัดสินใจจะตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี จึงควรศึกษาภาวะเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการมีลูกและรักษาภาวะมีบุตรยากอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

IUI (Intra Uterine Insemination)

การฉีดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก คือ กระบวนการคัดเลือกน้ำเชื้อที่แข็งแรงที่สุดของฝ่ายชายมาฉีดเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง เพื่อช่วยลดระยะในการว่ายและยังลดความเสี่ยงของเชื้ออสุจิที่อาจจะตายก่อนจะปฏิสนธิได้ดีมากๆ ซึ่งวิธีนี้เป็นการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้สูง เนื่องจากน้ำเชื้อจะเข้าผสมกับไข่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งวิธีนี้เป็นการปฏิสนธิภายในร่างกาย ที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด สามารถทำง่ายที่สุด ใช้เวลาไม่นานและค่าใช้จ่ายไม่สูง

เพียงแต่การทำ IUI จะมีข้อจำกัดตรงที่หากคุณภาพไข่ที่มีเปลือกหนา หรือ น้ำเชื้อที่อ่อนแอโอกาสการสำเร็จก็จะลดน้อยลงครับ เพราะหากไข่มีเปลือกหนาก็จะทำให้เชื้ออสุจิเจาะเข้าไข่เข้าไปยาก หรือ หากน้ำเชื้ออ่อนแอก็อาจทำให้น้ำเชื้อโดนกรดอ่อนๆ ตายก่อนระหว่างทางไปหาไข่ ดังนั้นก่อนทำ IUI จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจคุณภาพของไข่และอสุจิก่อน

IUI การฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ สำหรับผู้มีบุตรยาก

ICSI (Intracytoplasmic sperm injection)

เป็นวิธีการรักษา “ภาวะมีบุตรยาก” ที่ดีที่สุดในปัจจุบันที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากเด็กหลอดแก้วแบบ IVF แต่มีความต่างคือแพทย์จะคัดเลือกเลือกไข่กับอสุจิที่แข็งแรงและสมบูรณ์ที่สุดนำมาปฏิสนธิด้วยวิธีการใช้เข็มดูดตัวอสุจิที่คัดเลือกไว้ฉีดเข้าไปให้เนื้อไข่โดยตรงเพื่อก่อให้เกิดการปฏิสนธิ จากนั้นก็นำเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จนกลายเป็นตัวอ่อน จากนั้นจึงย้ายตัวอ่อนฝังภายในโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์และพัฒนาสู่เป็นทารกต่อไป ซึ่งการทำ ICSI เป็นวิธีที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันเพราะช่วยแก้ปัญหาผู้ที่มีบุตรยากได้หลากหลายสาเหตุ วิธีนี้เหมาะสำหรับฝ่ายหญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีไข่เปลือกแข็งหนาจนอสุจิไม่สามารถเจาะเข้าไปได้ หรือเป็นผู้ที่มีปัญหาที่มดลูกก็สามารถทำได้ฝั่งผู้ชายที่มีเชื้ออสุจิอ่อน ไม่แข็งแรง หรือเป็นหมันก็สามารถทำได้ครับ

อ่านบทความ : FAQs รวมคำถาม ICSI ที่หลายคนอยากรู้ คำถามเกี่ยวภาวะมีบุตรยาก

มีโอกาสสำเร็จมากน้อยแค่ไหน?

อัตราความสำเร็จของการทำ IUI จะอยู่ประมาณ 5-10% (เมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ) อัตราการสำเร็จของ ICSI จะมีเปอร์เซ็นต์สูงสุดอยู่ที่ 68 %และจะมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มสูงขึ้นหากคนไข้ทำ NGS หรือ การตรวจความผิดปกติของโครโมโซม  ร่วมด้วยก็จะทำให้โอกาสสำเร็จเพิ่มขึ้นถึง 78 % เลยครับ

ทำไมการตรวจ NGS (การตรวจความผิดปกติของโครโมโซม) ถึงเพิ่มโอกาสสำเร็จมากขึ้น?

เพราะการตรวจ NGS เป็นการตรวจความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อนหลังปฏิสนธิที่จะช่วยคัดกรองตัวอ่อนที่ผิดปกติที่เกิดจากการแบ่งตัวที่ไม่สมบูรณ์หรือความผิดปกติของพันธุกรรมที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะโดยปกติแล้วในขั้นตอนการทำ ICSi หลังจากที่แพทย์ทำการปรฏิสนธิไข่และอสุจิเรียบร้อยแล้วจะทำไปเลี้ยงต่อจนถึงในระยะบลาสโตซิสก่อนที่จะนำกลับไปในโพรงมดลูก ซึ่งหากตัวอ่อนเหล่านั้นเป็นตัวอ่อนที่มีความผิดปกติหรือแบ่งตัวไม่สมบูรณ์ก็จะทำให้การฝังตัวในโพรงมดลูกในเติบโตเป็นทารกไม่ได้ ตัวอ่อนเหล่านั้นก็จะหลุดออกมา แต่หากก่อนนำกลับไปมีการตรวจ NGS ก่อนก็จะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นได้ครับ

**ในการตรวจ NGS จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะในขั้นตอนการทำ ICSI ปกติจะไม่มีการตรวจ NGS ครับ

แต่อย่างไรก็ตามการทำ IUI หรือ ICSI เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มโอกาสการมีลูกเท่านั้น แต่ผลลัพธ์จะขึ้นอยู่กับคุณภาพไข่ คุณภาพอสุจิ และภาวะร่างกายหลังการฝังตัวอ่อนว่า มีความพร้อมมากน้อยเพียงไหนครับ คนไข้สามารถอ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ 4 สาเหตุที่ทำให้ ICSI ไม่สำเร็จ สาเหตุที่ทำ อิ๊กซี่หรือเด็กหลอดแก้วไม่ติด!!


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ


แพทย์ผู้เขียน

แพทย์ผู้เขียน


นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์


นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์