อุ้มบุญ หนึ่งทางเลือกของคนมีลูกยาก กับความหวังกับกฎหมายใกล้คลอด

การอุ้มบุญ (Surrogacy) หมายถึงการตั้งครรภ์โดยใช้อาศัยมดลูกของหญิงอีกคนที่ยอมรับการตั้งครรภ์ของทารกซึ่งเป็นของคู่สามีภรรยาที่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติได้ ซึ่งวิธีนี้แม้ว่าจะมีคนรู้จักและพูดถึงจนคุ้นหู แต่ก็มักจะไม่มีใครทราบว่าจริงๆ แล้วสามารถทำได้จริงๆ และผิดกฏหมายหรือไม่?

อุ้มบุญ กับกฏหมายประเทศไทย

อุ้มบุญ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. …หรือ “ร่างกฎหมายอุ้มบุญ” ไปเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2553
ร่างกฎหมายดังกล่าว ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เพื่อตราเป็นกฎหมาย

ไม่เพียงกฎหมายอุ้มบุญ ยังไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ ยังน่าสนใจ และเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย อาทิ กำหนดให้ ศาลเยาวชนและครอบครัว มีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษา เฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความเป็นบิดามารดา ของผู้ที่เกิดโดยอาศัยการอุ้มบุญ ให้ ประธานศาลฎีกา มีอำนาจวินิจฉัย กรณีมีปัญหาว่า คดีฟ้องร้องเกี่ยวกับการอุ้มบุญอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว หรือศาลยุติธรรมทั่วไป มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก ที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคพ.) โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ให้นายกแพทยสภาเป็นรองประธาน  มีกรรมการโดยตำแหน่ง  6  คน  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน กำหนดให้ การผสมเทียม ต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้น (ห้ามหญิงโสดรับอุ้มบุญ)

กรณีที่การอุ้มบุญ ต้องใช้อสุจิจากผู้บริจาค (สามีไม่มีอสุจิ) ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามี และ ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย

วิธีการอุ้มบุญไว้ 2 ลักษณะ

อายุ 40 มีลูกได้ไหม

1.การใช้ตัวอ่อน

2.เกิดจากอสุจิและไข่ของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) และการใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิหรือไข่ ของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทน กับ อสุจิหรือไข่ของบุคคลอื่น

ยังมีข้อกำหนด เรื่องหญิงที่รับอุ้มบุญ ไม่สามารถใช้ไข่ของตน ผสมกับอสุจิของพ่อโดยกฎหมาย  (เจ้าของอสุจิ)  เพื่อป้องกันความรู้สึกผูกพันกันที่อาจมีขึ้นตามมา กำหนดให้แพทยสภา โดยความเห็นชอบของ กคพ. ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับ ค่าใช้จ่าย ในการบำรุงรักษาสุขภาพของหญิงที่รับอุ้มบุญ ในขณะที่ตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอด

ประเด็นนี้กฎหมายต้องการควบคุมมิให้การอุ้มบุญขัดต่อจริยธรรม หรือมิให้ดูว่าการรับจ้างอุ้มบุญ ออกไปในทำนอง ธุรกิจให้เช่ามดลูก แสวงหากำไร นอกจากนี้ ยังกำหนด ความเป็นบิดาและมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดจากอุ้มบุญ ไว้เฉพาะ โดยให้ผู้มีส่วนได้เสีย สามารถร้องขอต่อศาลแต่งตั้งผู้ปกครองได้ ในกรณีที่สามีและภริยา ซึ่งประสงค์ให้ผู้อื่นอุ้มบุญให้ ถึงแก่ความตาย ก่อนที่เด็กเกิด

ร่างกฎหมายอุ้มบุญ ยังห้ามมิให้มีการใช้ประโยชน์จากอสุจิ ไข่ หรือ ตัวอ่อนที่ฝากไว้ ในกรณีที่เจ้าของอสุจิ ไข่ หรือเจ้าของตัวอ่อนดังกล่าว ถึงแก่ ความตาย เว้นแต่เจ้าของได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ก่อนตาย   และ ต้องใช้อสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน เพื่อบำบัดรักษาการมีบุตรยากของสามีหรือภริยา ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เห็นได้ว่าร่างกฎหมายฯฉบับนี้ ตีกรอบ “การอุ้มบุญ” ไว้อย่างรัดกุม

นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้องและรักษาผู้ป่วยมีบุตรยาก หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลพญาไท 2 ในฐานะผู้มีประสบการณ์ดูแลการอุ้มบุญให้แก่ผู้มีบุตรยากมาแล้วหลายราย ให้ความเห็นว่า

“ขณะนี้การอุ้มบุญ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่กระทำขึ้นภายใต้ ความสมยอมและเห็นอกเห็นใจกัน ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญโดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งหมอ พยาบาล ผู้ป่วยซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีบุตรยาก รวมทั้งผู้รับจ้างอุ้มบุญหรือตั้งครรภ์แทนผู้ที่มีบุตรยาก” คุณหมอธิติกรณ์บอกว่า การอุ้มบุญนอกจากเป็นเรื่องที่บอบบางในหลายมิติ ยังเป็นเรื่องที่จำเพาะเจาะจงมาก สำหรับผู้ป่วยบางราย

“เทียบจำนวนประชากรไทย 60 กว่าล้านคน ผมว่าจำนวนผู้ที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากรวมกันทุกกรณี น่าจะมีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่า 3 ล้านคน” ในจำนวนนี้ คุณหมอฯบอกว่า ถ้านับกรณีทำ เด็กหลอดแก้ว (IVF) และการทำอิ๊กซี่ (ICSI) ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมเวลานี้ รวมกันน่าจะมีอยู่ไม่เกิน 10% ของผู้มีบุตรยากทุกประเภท แต่บีบจำนวนให้แคบลงไปอีก เฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่า ไม่เหมาะที่จะทำเด็กหลอดแก้ว และอิ๊กซี่ หรือไม่เหมาะที่จะช่วยตั้งครรภ์ด้วยวิธีอื่นเท่านั้น แพทย์จึงจะพิจารณาให้มีการ อุ้มบุญ

ยกตัวอย่าง แม่จริง (เจ้าของไข่) ตัดมดลูกทิ้งไปแล้ว ตั้งครรภ์เองไม่ได้, เป็นเนื้องอกที่มดลูก ทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ไม่ดี, เยื่อบุโพรงมดลูกไม่ดี, ขณะตั้งครรภ์ มดลูกบีบตัวมากผิดปกติ ทำให้แท้งง่าย เฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้เหล่านี้เท่านั้น แพทย์จึงจะแนะนำให้ใช้วิธีการ อุ้มบุญ

คุณหมอฯ บอกว่า สรุปแล้วที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ จำนวนคนไข้ที่จำเป็นต้องพึ่งวิธีอุ้มบุญ ทั่วประเทศมีแค่หลัก พันคน เฉลี่ยช่วง 10 ปีมีการอุ้มบุญปีละไม่เกิน 100 ราย แม้เป็นกฎหมายสำหรับคนกลุ่มน้อย แต่คุณหมอธิติกรณ์ก็เห็นด้วยกับการมีกฎหมายอุ้มบุญออกมารองรับ ดีกว่าปล่อยให้ทำกันตามยถากรรม

“เท่าที่ผมได้ยินมา พ่อแม่ที่แท้จริงซึ่งเป็นเจ้าของอสุจิและไข่ ส่วนใหญ่ อยากได้คนไทยด้วยกันอุ้มบุญให้ แต่หลายรายก็เข็ดขยาด เพราะกลัวจะเจอปัญหา เช่น พอผู้รับจ้างอุ้มบุญเริ่มตั้งท้องสัก 3 เดือน เริ่มเล่นแง่กับพ่อแม่ ที่แท้จริงของเด็ก”

“บางรายเรียกร้องโน่นนี่ หรือขอยืมเงินก้อนโต ถ้าพ่อแม่ของเด็ก ไม่ยอมจัดหาให้ ก็ใช้เด็กในท้องเป็นตัวประกัน แกล้งทำอะไรไม่ระวัง ล่อแหลมต่อเด็กในท้องจะแท้ง ผลสุดท้ายพ่อแม่ที่แท้จริงต้องยอมจำนน”

คุณหมอฯบอกว่า จึงมีคู่สามีภริยาที่ประสงค์จะให้ผู้อื่นอุ้มบุญจำนวนมาก เลี่ยงไปใช้วิธี ให้ชาวต่างชาติ เช่น ชาวจีน หรือพม่า ซึ่งเข้าเมืองผิดกฎหมาย

“วิธีนี้พ่อแม่ที่แจ้งจริง สามารถควบคุมผู้รับจ้างได้อย่างใกล้ชิด เพราะสามารถสั่งให้ชาวต่างชาติที่รับอุ้มบุญมาอยู่ในความดูแลของตนที่บ้าน จะได้ควบคุมดูแลพฤติกรรมระหว่างตั้งครรภ์ได้อย่างมีคุณภาพตามที่ต้องการ”

“ถ้าชาวต่างชาติรายนั้นคิดเบี้ยว หรืองอแง ผู้ว่าจ้างอุ้มบุญมักขู่ว่าจะจับตัวส่งให้ตำรวจ ส่งกลับประเทศทันที กรณีนี้จึงเหมือนการถือไพ่กันคนละใบ” ผิดกับคนไทยที่ยอมรับจ้างอุ้มบุญ แต่ไม่ยอมไปอยู่กับครอบครัวของผู้ว่าจ้างฯ ขณะตั้งท้องควบคุมคุณภาพของเด็กได้ยาก แถมยังมีโอกาสเบี้ยวข้อตกลง กันได้ง่าย

คุณหมอธิติกรณ์บอกว่า ยังมีกรณีอุ้มบุญอีกหลายกรณี ที่ละเมิดกฎหมาย

เช่น ให้หมอช่วยทำอุ้มบุญให้ที่โรงพยาบาลหนึ่ง แต่เวลาคลอดแอบไปคลอดอีกโรงพยาบาลหนึ่ง เพื่อจะได้สมรู้ร่วมคิดกันแจ้งเท็จในประวัติและใบเกิด ตบตาผู้รับแจ้งเกิด ณ โรงพยาบาลซึ่งไปคลอดว่า ผู้รับอุ้มบุญไม่ใช่แม่ เวลานี้กฎหมายยังถือว่า ใครเป็นผู้คลอดผู้นั้นเป็นแม่

หนักกว่านั้น คุณหมอฯบอกว่า บางรายมีเส้นสายใหญ่โต ถึงขนาดใช้วิธีร่วมกับเจ้าหน้าที่ทุจริต ทำบัตรประชาชนปลอม เช่น สมคบคิดกันให้ นาง ข ซึ่งเป็นผู้รับจ้างอุ้มบุญ ไปถ่ายรูปทำบัตรประชาชนปลอมที่อำเภอ โดยใช้ชื่อ นามสกุล และข้อมูลประวัติของ นาง ก (เจ้าของไข่ แม่ที่แท้จริง) สวมรอย เมื่อทำเช่นนี้ เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ซึ่งรับแจ้งเกิดที่โรงพยาบาล ให้เชื่อว่า เด็กที่เกิดมานั้น เป็นลูกของ นาง ก ผู้ซึ่งถูก นาง ข รับสมอ้างปลอมบัตรประชาชนสวมรอย

“วิธีนี้คนทำมักมีเส้นสายใหญ่ แถมยังเป็นหลักประกันไม่ให้ นาง ข ผู้รับอุ้มบุญ กล้าเบี้ยว หรือเล่นแง่กับนาง ก ผู้ว่าจ้างอุ้มบุญ ขืนเบี้ยวหรือเล่นแง่ ก็จะเจอความผิดข้อหาแอบสวมรอยผู้อื่นทำบัตรประชาชนปลอม”

คุณหมอธิติกรณ์สรุปว่า หนทางที่ดีที่สุด ควรเร่งผลักดันกฎหมายอุ้มบุญออกมา ทุกอย่างจะได้ทำอย่างตรงไปตรงมา และปัญหา 108 จะได้จบสิ้น.

ที่มา : thairath

………………………………………………

Worldwide IVF - youtude

เพื่อไม่ให้พลาดความรู้ดี ๆ กด Like Page และอย่าลืม Subscribe
Worldwide IVF Channel ไว้เลยครับ
👉🏻 พอดแคสต์ของคนอยากมีลูก : https://bit.ly/3kdJI3K

………………………………………………

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ


แพทย์ผู้เขียน

แพทย์ผู้เขียน


นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์


นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์