การทำเด็กหลอดแก้ว IVF คือเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์สมัยใหม่ที่ถูกพัฒนาต่อยอดขึ้นมาเพื่อช่วยให้คู่สมรสที่กำลังประสบปัญหามีบุตรยากสามารถมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ ซึ่งอัตราความสำเร็จของการทำ IVF อยู่ในระดับสูง และยังเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยเป็นอย่างมากอีกด้วย วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับการทำ IVF มาให้ศึกษากัน
การเด็กหลอดแก้ว IVF คืออะไร?
IVF (In – vitro Fertilization) หรือที่หลายๆคนมักจะเข้าใจและคุ้นหูกับคำว่า “เด็กหลอดแก้ว” มากกว่า ซึ่งสาเหตุที่ต้องเรียกว่าเด็กหลอดแก้วนั้นก็เพราะว่า วิธีนี้คือการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ที่เป็นการนำไข่ที่คัดแล้วของฝ่ายหญิง และอสุจิที่คัดเลือกแล้วของฝ่ายชายนำมาปฏิสนธิภายในหลอดแก้วทดลอง จากนั้นนำมาเพาะเลี้ยงภายในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์จนเกิดเป็นตัวอ่อนแล้วจึงนำตัวอ่อนย้ายไปฝังในโพรงมดลูกอีกครั้งเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติต่อไป
การทำ IVF เหมาะกับใคร?
- สำหรับคู่สมรสที่แต่งงานมานานแล้ว ลองใช้วิธีตามธรรมชาติแล้วไม่ตั้งครรภ์
- ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป
- ผู้มีปัญหาด้านระบบเจริญพันธุ์ เช่น ท่อนำไข่อุดตัน มีพังผืดบริเวณไข่กับท่อนำไข่ เยี่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ
- ผู้มีระบบฮอร์โมนรังไข่ผิดปกติ ภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง หรือมีภาวะรังไข่เสื่อม
- ฝ่ายชายมีน้ำเชื้อน้อย อ่อนแอ ไม่แข็งแรง มีรูปร่างผิดปกติ เคลื่อนไหวช้า
- คู่สมรสที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการทำ IUI (การฉีดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก) มาแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้ว IVF
1.กระตุ้นไข่
เริ่มแรกนั้นจำเป็นจะต้องมีการตรวจเพื่อดูความพร้อมของร่างกายของฝ่ายหญิงก่อน เช่น การเจาะเลือดวัดฮอร์โมน โดยทางฝ่ายหญิงนั้นจำเป็นจะต้องตรวจในช่วงวันที่ 2-3 ของการมีรอบเดือน ซึ่งการตรวจนี้จะเป็นวิธีการประเมินการทำงานของรังไข่ จากนั้นจะตรวจอัลตราซาวด์เพื่อนับจำนวนไข่ของรอบเดือนนั้นๆ จากนั้นจึงจะเริ่มการฉีดกระตุ้นไข่บริเวณหน้าท้อง (จำนวนเข็มที่ฉีดจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ โดยจะประเมินจากปริมาณฮอร์โมน ผลตรวจและอายุของฝ่ายหญิงเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด)
ซึ่งตัวยาที่ฉีดจะเป็นยาที่มีผลต่อการกระตุ้นให้ไข่มีการพัฒนาและมีการเติบโตขึ้นได้ครั้งละหลายๆใบก่อน ยาตัวนี้จะใช้เวลาในการฉีดกระตุ้นประมาณ 5 วัน จากนั้นจะเริ่มต้นการฉีดยาที่มีคุณสมบัติที่จะช่วยชะลอกันไข่ตกก่อนเวลานัดเก็บไข่ ซึ่งในระหว่างนี้แพทย์ผู้ดูแลจะมีการตรวจวัดระดับฮอร์โมนประกอบกับอัลตราซาวด์เป็นระยะ เพื่อติดตามผลการเจริญเติบโตของไข่ว่ามีปริมาณเท่าไรและมีขนาดที่เหมาะสมในการเก็บหรือยัง โดยหลักเกณฑ์ในการเก็บไข่นั้นจะขึ้นอยู่กับขนาด ซึ่งขนาดที่เหมาะสมนั้นก็คือ ไม่ต่ำกว่า 18 เซนติเมตร และจากนั้นจะเริ่มฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกพร้อมกันภายใน 36 ชั่วโมง
2.วันเก็บไข่
ขั้นตอนถัดมา แพทย์ผู้ดูแลจะนัดคนไข้เข้ามาเพื่อทำการเก็บไข่ โดยจะทำการดูดไข่ออกจากฝ่ายหญิงด้วยการใช้เข็มดูดผ่านทางช่องคลอด โดยในบางกรณีอาจใช้การอัลตราซาวด์ร่วมด้วยเพื่อความแม่นยำในการเก็บไข่ ในกระบวนการนี้จะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30 นาที จากนั้นแพทย์ผู้ดูแลจะฉีดฮอร์โมนให้ฝ่ายหญิงเพิ่ม ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ผนังมดลูกมีความแข็งแรงและสมบูรณ์มากพอที่จะใช้รองรับการฝังตัวอ่อนให้ในอนาคต
3.คัดกรองอสุจิ
ในวันที่เก็บไข่ ถ้าคนไข้ใช้ Sperm สด ผู้ชายต้องมาเก็บสเปิร์มในวันเก็บไข่ หรือบางคู่ผู้ชายอาจจะไม่สะดวก สามารถมาแช่แข็งสเปิร์มไว้ก่อนหน้านั้นได้ โดยนักวิทย์จะละลายน้ำเชื้อออกมาใช้ในวันที่เก็บไข่ผู้หญิง กระบวนการเก็บน้ำเชื้อนั้น หากเป็นผู้ที่มีสมรรถภาพทางเพศสมบูรณ์ก็จะใช้วิธีการช่วยตัวเองให้หลั่งใส่ในภาชนะปลอดเชื้อ หากเป็นผู้ที่มีปัญหาทางสมรรถภาพทางเพศ เช่น อวัยวะเพศไม่แข็งตัว เป็นหมัน ในกรณีนี้แพทย์จะใช้วิธีเก็บน้ำเชื้อโดยการนำเข็มดูดออกทางลูกอัณฑะ จากนั้นทีมแพทย์จะนำน้ำเชื้อไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรองอสุจิเพื่อเลือกตัวที่สมบูรณ์และแข็งแรงที่สุดต่อไป โดยในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาในการทำประมาณ 30 นาที เพื่อคงประสทธิภาพของน้ำเชื้อให้ได้มากที่สุด
4.การปฏิสนธิ
เมื่อคัดเลือกไข่ที่สมบูรณ์และอสุจิที่แข็งแรงได้แล้ว แพทย์ผู้ดูแลจะนำไข่และอสุจิใส่ในหลอดแก้วเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิให้เกิดเป้นตัวอ่อน ซึ่งในขั้นตอนนี้แพทย์จะต้องทำการเลี้ยงและควบคุมคุณภาพภายในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิดอีกประมาณ 16-20 ชั่วโมง เพื่อดูว่าไข่และอสุจิในหลอดแก้วนั้นมีการปฏิสนธิกันหรือไม่? หากมีการปฏิสนธิ จะทำการเพาะเลี้ยงต่อเพื่อให้กลายเป็นตัวอ่อน จากนั้นจะทำการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก
5.การย้ายตัวอ่อน
กระบวนการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก จะคัดเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงที่สุด จากนั้นจะใช้เครื่องมือทางการแพทย์สอดเข้าไปทางช่องคลอดคล้ายการตรวจภายใน เข้าสู่โพรงมดลูกในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด โดยขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้การอัลตราซาวด์ประกอบด้วย เพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จให้มากยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้นำตัวอ่อนเข้าไปฝังในโพรงมดลูกแล้ว ฝ่ายหญิงควรจะต้องกลับมาพบแพทย์อีกครั้งเพื่อตรวจสอบการตั้งครรภ์ภายใน 14 วัน เพื่อดูผล และจากนั้นแพทย์จะจ่ายยาปรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่อไปเพื่อป้องกันภาวะการแท้ง
วิธีปฏิบัติตัวภายหลังการใส่ตัวอ่อน
- ไม่ควรลุกนั่งภายหลังการใส่ตัวอ่อนอย่างน้อย 30 นาที ในบางรายอาจจะมีอาการอ่อนแรง เจ็บหน่วงที่หน้าท้อง หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ จึงไม่ควรขับรถมาเอง ควรให้สามี ญาติ หรือผู้ใกล้ชิดพามาเท่านั้น
- ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- งดการมีเพศสัมพันธ์ 14 วัน
- ห้ามสวนล้างช่องคลอด
- ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม หรือยกของหนักๆ เพราะอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้
- สำหรับอาหารการกินนั้น สามารถรับประทานอาหารปกติได้ แต่จำเป็นต้องทานอาหารที่มีเส้นใยเยอะๆ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องท้องผูกหรือท้องเสีย เพราะอาการเหล่านี้จะส่งผลให้การตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่พื้นที่แออัด หรือคนเยอะๆ
- หากมีอาการผิดปกติ ต้องเข้าพบแพทย์ทันที
ค่าใช้จ่ายการทำเด็กหลอดแก้ว แพงหรือไม่?
การทำเด็กหลอดแก้วยังคงมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากในทุกๆกระบวนการนั้นถูกทำโดยทีมแพทย์ พยาบาลและนักวิทย์ฯ ที่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ รวมถึงเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีห้องปฏิบัติการ (ห้อง Lab) ที่มีความพร้อม ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้สำเร็จสูงสุด
ข้อดีของการทำIVF
- เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น ในคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก
- เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ฝ่ายชายมีเชื้ออ่อน ไม่แข็งแรง เพราะสามารถคัดกรองเชื้อที่มีความแข็งแรงได้
- ไข่ที่เหลือจากการผสมสามารถแช่แข็งเก็บไว้ได้ เพื่อสะดวกต่อการนำมาใช้ในครั้งต่อไปกรณีที่อยากมีลูกเพิ่ม
ข้อเสียของการทำIVF
- หากอสุจิไม่แข็งแรงมากพอ หรือ หากเป็นไข่ที่มีเปลือกแข็งหนา อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านอายุ จะทำให้อสุจิไม่สามารถเจาะเข้าไปในไข่ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขจุดด้อยของวิธี IVF แล้ว นั่นก็คือการทำอิ๊กซี่ ICSI เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมมากกว่า และมีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสูงถึง 85 %
………………………………………………
เพื่อไม่ให้พลาดความรู้ดี ๆ กด Like Page และอย่าลืม Subscribe
Worldwide IVF Channel ไว้เลยครับ
👉🏻 พอดแคสต์ของคนอยากมีลูก : https://bit.ly/3kdJI3K
………………………………………………
การทำ ICSI คืออะไร? อ่านต่อได้ ที่นี่
แพทย์ผู้เขียน
แพทย์ผู้เขียน
นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์
นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์