กัญชา เมื่อพูดถึงเจ้าพืชชนิดนี้ เชื่อได้เลยว่าไม่มีใครไม่รู้จัก และยิ่งในปัจจุบันที่เจ้าพืชตัวนี้ได้กลายมาเป็นของถูกกฎหมายแล้วด้วย ก็ยิ่งเป็นเครื่องการันตีได้ว่าไม่มีใครไม่พูดถึง อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันว่าเจ้าพืชตัวนี้มีทั้งสรรพคุณและโทษ โดยสรรพคุณของมัน เทียบเท่าได้กับยาบางชนิด แต่หากใช้อย่างผิดทาง ก็สามารถกลายเป็นโทษได้โดยไม่ต้องสงสัย ยิ่งในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องห้าม แม้ว่าจะใช้ในทางสรรพคุณทางยาก็ตาม
กัญชา-มีประโยชน์ทางยา แต่ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้ไหม อันตรายต่อทารกหรือไม่?
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า เราต่างทราบกันดีว่าในพืชชนิดนี้มีสรรพคุณที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างมากมายในทางการแพทย์ เช่น การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง อาการปวดเรื้อรัง เบื่ออาหาร เป็นต้น แต่ในทางกลับกันก็สามารถทำให้เกิดโทษอย่างมหาศาลหากใช้อย่างผิดวิธี โดยเฉพาะในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ โทษจากเจ้าพืชสามแฉกอาจทำให้เกิดผลร้ายได้ทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ด้วย
กัญชามีผลต่อคุณแม่และลูกในครรภ์อย่างไร?
กัญชา มีสารเคมีที่ชื่อว่า tetrahydrocannabinol (THC) ที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและถึงขั้น “เคลิ้ม” อีกทั้งยังสามารถส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ยังมีการศึกษาพบว่ากัญชาทำให้ระดับฮอร์โมน luteinizing hormone (LH) จากต่อมใต้สมองลดลง ซึ่งทำให้ไม่เกิดการตกไข่ แต่กลับมาตกไข่ได้หลังจากผ่านไป 3-4 เดือน
อย่างไรก็ดี ได้มีการทดลองกับหนูทดลองพบว่า การใช้กัญชามากเกินไปนั้นสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของไข่เข้าสู่มดลูก อาจทำให้ตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือมีความล้มเหลวในการฝังตัวอ่อนได้
ผลกระทบต่อการตั้งครรภ์
การที่คุณแม่ใช้พืชชนิดนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ส่งผลเป็นอย่างมากกับลูกในครรภ์ ซึ่งผลเสียดังกล่าว ประกอบด้วย
- การพัฒนาสมองของทารกไม่สมบูรณ์ ทารกอาจมีปัญหาการเรียนรู้ และพฤติกรรมในอนาคต
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก
- คลอดก่อนกำหนด
- ทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์
อย่างไรก็ดี การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์จึงควรมีการควบคุมและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และไม่แนะนำให้ใช้กัญชาในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์แม้จะเป็นแบบรักษาก็ตาม เนื่องจากการใช้กัญชาในคุณแม่ที่อยู่ในช่วงตั้งท้องยังมีข้อจำกัดอีกมาก ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการนำมาใช้เองจะดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีรับมือกับปัญหาท้องแล้วแท้ง ให้ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย
15 อาหารบำรุงไข่ บำรุงมดลูก เร่งไข่ตกให้พร้อมทำอิ๊กซี่ (ICSI)
แพทย์ผู้เขียน
แพทย์ผู้เขียน
นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์
นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์