คนท้องกินน้ำกระท่อมได้ไหม อันตรายหรือเปล่า?

คนท้องกินน้ำกระท่อมได้ไหม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคนี้ หลังจากที่ทางรัฐบาลได้ปลดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ทำให้ปัจจุบันประชาชนสามารถปลูก ซื้อขาย และนำกระท่อมมาบริโภคได้อย่างถูกกฎหมายนั้น อาจทำให้คุณแม่หลาย ๆ คนสงสัยว่าในช่วงที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ตนเองสามารถดื่มน้ำกระท่อมได้หรือไม่ เนื่องจากคุณแม่ท่านนั้น ๆ อาจจำเป็นต้องใช้สรรพคุณบางอย่างจากเจ้าพืชชนิดนี้ แต่ก็ดันพ่วงของเสียบางอย่างที่อาจไม่เหมาะกับทารกในครรภ์ ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมารู้จักเจ้าใบกระท่อมนี้ให้มากขึ้น พร้อมไขข้อสงสัยว่าคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์ สามารถดื่มน้ำกระท่อมได้เหมือนคนทั่วไปหรือไม่?

คนท้องกินน้ำกระท่อมได้ไหม อันตรายหรือเปล่า?

คนท้องกินน้ำกระท่อมได้ไหม หากดื่มเข้าไปจะส่งผลเสียต่อลูกหรือเปล่า?

จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า หลังจากที่ใบกระท่อมสามารถถูกนำมาใช้ได้อย่างถูกกฏหมาย เราต่างสามารถเห็นได้ว่า แทบจะทุก ๆ พื้นที่ มีร้านจำหน่ายใบกระท่อมอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ผู้ที่บริโภคใบหรือน้ำกระท่อมนั้น ก็หวังเพียงเพื่อนำสรรพคุณของมันมาใช้ เช่น เพื่อให้มีแรงทำงานและสามารถทนตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย ซึ่งเป็นการใช้แบบวิถีชุมชน และตามภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้าน ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้บิด ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อย ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท เป็นต้น แต่สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์นั้นจะสามารถใช้สรรพคุณจากใบกระท่อมนี้ได้หรือไม่ เป็นคำตอบที่เราจะค้นหาไปด้วยกัน

กระท่อม คือ…

โดยก่อนอื่นนั้น คุณแม่ทั้งหลายอาจจะต้องทำความรู้จักกับเจ้าพืชชนิดนี้เสียก่อน “กระท่อม” เป็นไม้ยืนต้นที่พบมากในแถบภาคใต้และภาคกลางของประเทศไทย พืชกระท่อมนั้นอยู่คู่กับวิถีชาวบ้านของคนไทยมาช้านาน โดยชาวไร่ชาวสวนในสมัยก่อนนิยมนำใบกระท่อมมาเคี้ยวเพื่อให้มีแรงทำงาน ทำงานได้นานขึ้น ทนแดดมากขึ้น นอกจากนี้ตัวใบกระท่อมเองนั้นยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยรักษาอาการท้องเสีย บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยคลายเครียด คลายกังวลได้

กระท่อมอันตรายแค่ไหน?

แท้จริงแล้วใบกระท่อมนั้น ไม่ได้มีโทษที่รุนแรงถึงขั้นที่อันตรายมากมายนัก หากแต่ด้วยการมีคุณสมบัติที่ทำให้ผู้ที่บริโภคนอนหลับ และระงับประสาท จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้น จากข้อดีอาจกลายเป็นส่งผลเสียต่อร่างกายได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหากใช้มากเกินไปหรือใช้อย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติได้หลายรูปแบบ เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • นอนไม่หลับ
  • หวาดระแวง
  • เห็นภาพหลอน
  • เบื่ออาหาร
  • ปากแห้ง
  • หนาวสั่น

อย่างไรก็ดี อันตรายอีกประการจากการกินใบกระท่อม หากผู้ใช้กินใบกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบ จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘ถุงท่อม’ ในลำไส้ได้ เพราะไม่ได้ย่อยและกลายเป็นตะกอนติดอยู่ในลำไส้ ไม่ได้ขับถ่ายออก จนเกิดเป็นพังผืดหุ้มอยู่รอบก้อนตะกอนกระท่อมนั้นและกลายเป็นถุงท่อมในที่สุด

คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถทานน้ำกระท่อมได้ไหม?

คำตอบสามารถแบ่งตามได้ช่วงภาวะของคุณแม่ท่านนั้น ๆ โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก ๆ ด้วยกัน ดังนี้

ในกรณีตั้งครรภ์

ต้องแจ้งให้ทราบก่อนว่า ใบกระท่อมนั้นมีสารออกฤทธิ์อยู่หลายกลุ่ม เช่น Alkaloid Flavonoid Phenylpropanoid เป็นต้น ซึ่งสารบางชนิดมีกลไกการทำงานคล้ายกับฝิ่น มอร์ฟีน ทรามาดอล หากใช้ในผู้ตั้งครรภ์ก็จะส่งผลกระทบต่อทารกได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้ทารกที่คลอดออกมามีอาการ “ถอนยา” หรือ Neonatal abstinence syndrome โดยแสดงอาการออกมาได้หลายรูปแบบ เช่น หายใจเร็ว หอบ คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

ในกรณีอยู่ในช่วงให้น้ำนม

เนื่องจากสารเสพติดนั้นสามารถซึมเข้าสู่ตัวเด็กได้ผ่านทางน้ำนม ผลกระทบจะรุนแรงเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารเสพติดที่ทารกได้รับ ซึ่งผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับทารกก็มีได้หลากหลายอาการ เช่น พัฒนาการช้า สมองเล็ก หายใจผิดปกติ เป็นต้น อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กในระยะยาวได้อีกด้วย ซึ่งลูกอาจจะขี้งอแง เลี้ยงยาก ถือเป็นผลที่คุณแม่ต้องพิจารณาก่อนดื่มน้ำกระท่อมอย่างถี่ถ้วน หากไม่อยากให้ลูกต้องพบเจอกับอาการดังกล่าว

ท้ายที่สุด แม้ในทางการแพทย์อาจนำสรรพคุณของเจ้าใบกระท่อมในการลดความเจ็บปวดมาใช้ในคุณแม่ใกล้คลอด แต่ก็ถือว่าอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งหากเป็นกรณีที่คุณแม่จะดื่มเอง ขอแนะนำว่าไม่ควรเสี่ยงเป็นอันขาด เพราะเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าจะส่งผลอันตรายอย่างไรกับลูกน้อย ดังนั้น ไม่ควรดื่มเองโดยพลการโดยเด็ดขาด

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

วิธีรับมือกับปัญหาท้องแล้วแท้ง ให้ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย

15 อาหารบำรุงไข่ บำรุงมดลูก เร่งไข่ตกให้พร้อมทำอิ๊กซี่ (ICSI)

คนท้องออกกำลังกายได้มั้ย มีท่าไหนที่ควรระวังบ้าง


แพทย์ผู้เขียน

แพทย์ผู้เขียน


นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์


นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์