นับวันไข่ตกอย่างไรไม่ให้พลาด

โดยปกติ การนับวันไข่ตก ไข่จะตกก่อนมีประจำเดือน 14 วัน แต่ก็อาจแตกต่างกันไปในผู้หญิงแต่ละคน โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงเรามักมีประจำเดือนทุกๆ 28 วัน และไข่จะตกในราววันที่ 14 ของรอบเดือนหรือครึ่งทางของ 28 วัน แต่ผู้หญิงก็อาจจะมีรอบประจำเดือนยาวนานไม่เหมือนกันได้ตั้งแต่ 23 วันไปจนถึง 33 วัน ถ้าคุณอยากรู้ว่าประจำเดือนมาสม่ำเสมอหรือไม่ก็ให้จดบันทึกหรือกาลงในปฏิทินไว้อย่างน้อยประมาณ 3-4 เดือน แล้วนับดูว่าแต่ละรอบเดือน(จากวันแรกของการมีประจำเดือน ถึงวันแรกของการมีประจำเดือนอีกรอบ) มีจำนวนวันเท่ากันหรือไม่

ส่วนในกรณีที่มีรอบเดือนไม่สม่ำเสมอหรือมาไม่ค่อยตรงเวลา การคำนวณวันตกไข่ก็อาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้ แต่เราก็พอจะมีวิธีสังเกตได้ว่าในวันนั้น ๆ เรากำลังอยู่ในช่วงวันตกไข่หรือไม่ โดยการสังเกตสัญญาณการตกไข่

วิธีนับวันไข่ตกที่ถูกวิธี

วิธีดูวันไข่ตกมีหลายวิธีค่ะ วิธีที่ง่ายที่สุด และเป็นวิธีเริ่มแรกเลย คือ นับวันจากรอบประจำเดือน แต่ก่อนอื่นเลย ต้องได้ประวัติย้อนหลังรอบเดือนอย่างน้อย 3-6 เดือนค่ะ ยิ่งได้ประวัติย้อนหลังนานเท่าไหร่ก็จะคำนวนได้ใกล้เคียงความจริงที่สุดค่ะ

โดยนับวันที่เริ่มมีเลือดออกไม่ว่าจะเป็นเลือดสด เลือดคล้ำ มูกเลือด วันแรกนับเป็นวันที่ 1 และนับต่อไปจนถึงก่อนวันแรกของรอบต่อไป 1 วัน จำนวนวันที่นับได้นำมาเป็นความยาวของ 1 รอบเดือน ตัวอย่างเช่น ประจำเดือนมาวันที่ 14 มิย และมาอีกครั้งวันที่ 12 กค เท่ากับรอบนั้น 28 วัน ประจำเดือนมาวันที่ 14 มิย และมาอีกครั้งวันที่ 4 กค เท่ากับรอบนั้น 20 วัน ประจำเดือนมาวันที่ 14 มิย และมาอีกครั้งวันที่ 31 กค เท่ากับรอบนั้น 47 วัน

เมื่อคำนวนได้ในรอบ 3-6 เดือน เราก็จะทราบรอบเดือนว่าอยู่ประมาณกี่วัน โดยทั่วไปรอบที่ปกติคือ 28-30 วัน ถ้าคนที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอ ไข่จะตกวันที่ 14-16 ของรอบเดือน เราก็ปฏิบัติภารกิจสำคัญ นัดเดตให้ไข่กับสเปริมเจอกันได้เลยค่ะ โดยปฏิบัติวันเว้นวันในช่วงวันไข่ตก

แล้วถ้ารอบเดือนไม่เท่ากัน จะทำยังไงดีนะ กรณีแบบนี้ก็จะยากขึ้นเล็กน้อยค่ะ จะต้องเอารอบที่สั้นที่สุดและยาวที่สุดลบ 14 ยกตัวอย่างเช่น รอบที่สั้นที่สุด 24 วัน ยาวที่สุด 40 วัน คำนวณแล้วได้เป็นตัวเลข 10และ 24 นั่นหมายความว่า ไข่จะตกอยู่ในช่วงวันที่ 10-24 ของรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ค่อนข้างกว้างนะคะ บอกไม่ได้เลยว่า ใน 15 วันนี้(10-24) ไข่จะตกวันไหน แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์วันเว้นวัน อาจนับทุกวันคู่ 10,12,14,16,18,20,22,24 หรือนับเลขคี่ 13,15,17,19,21,23,25 ก็ได้ค่ะ

ถ้าในคนที่รอบเดือนห่างมากและแตกต่างกันมากในแต่ละเดือนก็ยิ่งลำบากค่ะ บางคนบอก ไม่สามารถปฏิบัติตามที่หมอบอกได้หรอกนะคะ วันเว้นวันเดือนละตั้ง7-8 รอบ บางคนนับตามที่แนะนำแล้วต้องทำการบ้านตั้งสิบกว่ารอบต่อเดือน แล้วถ้าไม่ท้องต้องทำแบบนี้อีกตั้งกี่เดือนกันนะ อืม..น่าเห็นใจจริงๆค่ะ

ดังนั้นถ้าอยากให้การนับวันมีความคลาดเคลื่อนน้อยลงก็ต้องใช้ตัวช่วยเพิ่มค่ะ ตัวช่วยที่ง่ายที่สุดคือ ชุดตรวจไข่ตก ชุดตรวจไข่ตก (LH ovulation test) ในปัจจุบันมีชุดตรวจการตกไข่ โดยจะเป็นการตรวจหาฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (Luteinizing hormone – LH) ในปัสสาวะ ซึ่งปกติแล้วแล้วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน LH ออกมาในปริมาณน้อย จนถึงระยะ “ก่อนเวลาตกไข่” ฮอร์โมน LH จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการตกไข่จะเกิดภายในเวลา 12-48 ชั่วโมง

การใช้ชุดตรวจไข่ตก ง่ายมากค่ะ แค่ตรวจด้วยปัสสาวะ โดยเริ่มตรวจที่วันที่คาดว่าจะเกิดการตกไข่ เช่นตัวอย่างข้างต้นสำหรับคนที่รอบไม่สม่ำเสมอ ระยะวันไข่ตกน่าจะอยู่ประมาณวันที่ 10-24 เราก็จะเริ่มตรวจวันที่ 10 ของรอบ

โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจคือ บ่าย 2 โมงไม่ใช่ตอนเช้าเหมือนการตรวจตั้งครรภ์ ทั้งนี้เนื่องจากฮอร์โมน LH จะถูกสร้างขึ้นในช่วงเช้าและจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงช่วงบ่ายโมง และควรทำการเก็บปัสสาวะในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน จำกัดปริมาณการบริโภคของเหลวก่อนทำการทดสอบอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

เพราะปัสสาวะที่เข้มข้นจะทำให้ได้ผลที่ชัดเจนมากที่สุด ถ้าเทสขึ้นบวกหรือขึ้น 2 ขีด หมายความว่าไข่น่าจะตกแน่ใน 12-24 ชม ก็ปฏิบัติคืนนั้นได้เลยค่ะ แต่ถ้าไม่ขึ้นก็ตรวจทุกวันไปเรื่อยๆจนกว่าเทสจะบวกแล้วค่อยปฏิบัติค่ะ

สัญญาณทางร่างกายของการตกไข่ ที่พบได้ในผู้หญิงเกือบทุกคน

การสังเกตมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucus) ระยะตกไข่ จะมีมูกที่ปากมดลูกมาก โดยมูกจะมีลักษณะใสและลื่น (คล้ายไข่ขาวดิบ) สามารถดึงยืดเป็นเส้นได้ยาวเกินกว่า 6 เซนติเมตร ทำให้ตัวอสุจิสามารถผ่านมูกนี้เข้าไปสู่โพรงมดลูกได้สะดวก การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูง

อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยน โดยปกติแล้วร่างกายจะมีอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ก่อนวันตกไข่เมื่อใกล้วันตกไข่ อุณหภูมิร่างกายจะลดลงเล็กน้อย และเมื่อไข่ตกไปแล้วจะมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น การตรวจพบว่ามีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นคือสัญญาณบอกว่าไข่เพิ่งตกไป

วิธีสังเกตอาการตกไข่ นับวันไข่ตก

  1. ตกขาวเยอะกว่าเดิม หากสังเกตว่าช่วงนี้มีอาการตกขาวมากกว่าปกติ นั่นอาจเป็นอาการของไข่กำลังจะตกโดยทางการแพทย์จะเรียกตกขาวนั่นว่า มูกที่ปากมดลูก (Cervical Mucus) ซึ่งมูกชนิดนี้เป็นมูกที่จะช่วยให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ง่ายขึ้น
  2. มีอารมณ์ทางเพศ ในช่วงจังหวะที่ตรงกับช่วงไข่ตก ผู้หญิงจะมีอารมณ์ทางเพศสูงขึ้น เนื่องจากเป็นปฏิกิริยาทางร่างกายที่มรการสูบฉีดเลือดมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงมีอารมณ์มากขึ้น และนอกจากนี้ฮอร์โมนในร่างกายจะช่วยให้ร่างกายของผู้หญิงมีน้ำมีนวล
  3. อุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาตกไข่ อุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนและเลือดที่สูบฉีดเพิ่มขึ้นทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น
  4. มีอาการเจ็บคัดเต้านม ในช่วงไข่ตกบางรายอาจมีความรู้สึกเจ็บตึง คัดที่หน้าอก นั่นอาจเป็นอาการที่กำลังอยู่ในช่วงไข่ตก เนื่องจากฮอร์โมนมีปริมาณที่สูงขึ้นกว่าปกติ แต่อาจไม่แม่นยำเสมอไปเพราะการเจ็บเต้านมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย
  5. ปวดท้องน้อยข้างเดียว ช่วงที่มีการตกไข่ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์หลายราย มักจะมีอาการปวดที่ท้องน้อยนิดๆ อาการเหล่านี้เกิดจากร่างกายได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบเจริญพันธุ์ภายในให้เหมาะสมสำหรับฝังตัวของตัวอ่อนนั่นเอง

การใช้ชุดตรวจการตกไข่

ชุดทดสอบการตกไข่ (LH ovulation test) จะตรวจหาฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (Luteinizing hormone – LH) ในปัสสาวะ ในภาวะปกติร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน LH ออกมาในปริมาณน้อย จนถึงระยะก่อนเวลาไข่ตก ฮอร์โมนLHจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการตกไข่จะเกิดขึ้นภายในเวลา12-48 ชั่วโมง ถ้าหากมีเพศสัมพันธ์ภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากตรวจพบฮอร์โมน LH นี้อยู่ในระดับสูงสุด ก็จะทำให้มีโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น

ชุดทดสอบการตกไข่ วิธีการจะคล้ายกับชุดทดสอบการตั้งครรภ์ แต่จะใช้ปัสสาวะช่วงบ่าย คือ ประมาณ บ่าย 2 โมง(เนื่องจากฮอร์โมน LH จะถูกสร้างขึ้นในช่วงเช้าและจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงช่วงบ่ายโมงไปจนถึงสองทุ่ม) ไม่ใช่ปัสสาวะตอนเช้าเหมือนการตรวจตั้งครรภ์ โดยควรจำกัดปริมาณการบริโภคของเหลวก่อนทำการทดสอบอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และเก็บปัสสาวะช่วงเวลาเดียวกันทุกวัน

ชุดทดสอบการตกไข่ จากน้ำปัสสาวะ มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ ดังนี้

  1. ชุดทดสอบการตกไข่แบบจุ่ม (Strip) จุ่มแถบทดสอบด้านที่มีหัวลูกศรลงในถ้วยปัสสาวะ ประมาณ 5 วินาที รอประมาณ 5 นาที แล้วจึงค่อยอ่านผล
  2. ชุดทดสอบการตกไข่แบบตลับใช้หยด (Cassette) ใช้หลอดดูดปัสสาวะที่มากับชุดตรวจดูดปัสสาวะจากถ้วยเก็บ แล้วหยดปัสสาวะลงในหลุมทดสอบประมาณ 3-4 หยด รอประมาณ 5 นาที แล้วจึงอ่านผล
  3. ชุดทดสอบการตกไข่แบบปัสสาวะผ่าน (Midstream) ให้ปัสสาวะผ่านตรงส่วนปลายของแท่งทดสอบประมาณ 7-10 วินาที รอประมาณ 5 นาที แล้วจึงอ่านผล

อาหารบำรุงระบบสืบพันธุ์

หากมีการวางแผนการตั้งครรภ์แล้ว การบำรุงร่างกายรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และสารอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีสุขภาพร่างกายและรบบสืบพันธุ์ที่แข็งแรง โดยอาหารหลายชนิดมีบทบาทสำคัญ เช่น

  1. ผักใบเขียวมีโฟเลตและวิตามินบีสูง ช่วยเร่งการตกไข่ของฝ่ายหญิง และทำให้อสุจิของฝ่ายชายแข็งแรงขึ้น
  2. รับประทานถั่ว ธัญพืชมากขึ้น เพราะอุดมไปด้วยโปรตีนและธาตุเหล็ก มีส่วนช่วยให้ฝ่ายหญิงมีมดลูกแข็งแรงและผลิตไข่ที่มีคุณภาพ
  3. รับประทานปลามีโปรตีน วิตามินดี และไขมันต่ำ เช่น ปลาทู แซลมอน รวมทั้งเพิ่มโปรตีนจากพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ เช่น เมล็ดถั่ว ถั่วเหลือง หรือ เต้าหู้
  4. รับประทานอาหารที่มีสังกะสี แมงกานีส และเบต้าแคโรทีน เช่น แครอท จะช่วยเพิ่มปริมาณอสุจิและระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ส่วนแอปริคอตมีสารเบต้าแคโรทีนและแมงกานีสสูง ซึ่งสารอาหารทั้งสองชนิดถูกใช้ในการสร้างฮอร์โมน
  5. อาหารที่มีวิตามินบี 12 มีส่วนต่อการสร้างสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางเพศ
  6. รับประทานอาหารที่มีโฟเลต หรือ กรดโฟลิก เช่น ผักใบเขียวเข้ม แครอท อาโวคาโด ธัญพืชขัดสี ขนมปังไม่ขัดสี ผักโขม ตับ ไข่แดง เป็นต้น
  7. ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง  Worldwide IVF ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ


แพทย์ผู้เขียน

แพทย์ผู้เขียน


นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์


นพ.ธิติกรณ์ วาณิชย์กุล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชศาสตร์